วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ในหลวงกับสุดยอดแนวพระราชดำริแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม


ในหลวงกับสุดยอดแนวพระราชดำริแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม
ตลอดเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปี 2489 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทตรากตรำทำงานหนักเพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในยามที่ทรงพระประชวร และประทับรักษาพระองค์อยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะแพทย์, ข้าราชบริพารใกล้ชิด ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้าเฝ้าฯถวายรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดของเมืองไทยในรอบครึ่งศตวรรษอย่างละเอียดทุกแง่มุม โดยได้พระราชทานคำแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยใหญ่ออกมาต่อเนื่อง ด้วยความห่วงใยพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง
            และคงไม่มีใครในแผ่นดินสยามแห่งนี้ ที่จะรู้ซึ้งเข้าใจถึงวิธีการจัดการ “ทรัพยากรน้ำ” อย่างมีประสิทธิภาพ มากเท่ากับในหลวงของเรา โดยแนวพระราชดำริดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา ทรงพบว่า ราษฎรต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการเกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำแล้ง, ฝนทิ้งช่วง, ฝนไม่ตกในพื้นที่ที่ต้องการ รวมไปถึงปัญหาน้ำท่วม ทำให้ราษฎรไม่สามารถทำการเพาะปลูก อีกทั้งพืชผลยังเสียหายหนัก และน้ำเน่าเสีย ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดการทรัพยากรน้ำด้วยระบบชลประทานขึ้นเป็นครั้งแรก ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า เมือปี 2506         ผลจากการเสด็จฯลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า การขาดแคลนน้ำทำการเกษตร คือปัญหาสำคัญที่สุดของเกษตรกรไทย จึงเน้นการทรงงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และบริหารจัดการให้เกิดสมดุลธรรมชาติเป็นหลักตลอดมา โดยการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ผสมผสานกระบวนการและหลักวิชาการหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคด้านวิศวกรรมเพื่อสร้างฝาย, เขื่อน, อ่างเก็บน้ำ การวางระบบชลประทานเพื่อจัดหาน้ำและนำน้ำไปใช้ตามพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งยังต้องอาศัยกระบวนการด้านเคมี, ฟิสิกส์ และอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำฝนหลวง การคิดค้นเครื่องกลบำบัดน้ำเสีย เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนการปลูกป่าด้วยวิธีต่างๆ เพื่อรักษาป่าต้นน้ำและป้องกันน้ำท่วม
            สำหรับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ของเมืองไทยขณะนี้ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปริวิตกห่วงใยยิ่ง โดยทรงมีพระวิสัยทัศน์ยาวไกลเกี่ยวกับการ บริหารจัดการน้ำท่วม และได้พระ-ราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างเปี่ยมประสิทธิผล กลายเป็นที่มาของทฤษฎีแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
            “การก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม” ถือเป็นแนวพระราชดำริซึ่งใช้ได้ผลดีมาแต่โบราณ โดยหลักการสำคัญคือ ควรก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสม ขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่างๆด้านใน “การก่อสร้างทางผันน้ำ” เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมท้นให้ออกไป ต้องก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่นๆ หรือระบายออกสู่ทะเล สำหรับการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขังสามารถทำได้โดย “การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ”
            เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักไหลไปตามลำน้ำสะดวกขึ้น โดยดำเนินการได้หลายวิธี อาทิ ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น, ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบ มิให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ, กำจัดวัชพืช-ผักตบชวา และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น หากลำน้ำคดโค้งมากก็ให้หาแนวทางขุดคลองใหม่เป็นลำน้ำสายตรงให้น้ำไหลสะดวก ขณะเดียวกัน การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก ก็เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญเช่นกัน โดยทรงแนะนำว่า ควรเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่ง เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จังหวัดนครนายก
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานแนวทางสำคัญในการแก้ไขเยียวยาวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการตามแนวทางของ “โครงการพระราชดำริแก้มลิง” เป็นหลัก เพราะสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพฯที่มีลักษณะลุ่มต่ำ ทำให้การระบายน้ำยามเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะเดียวกันคูคลองต่างๆก็มีความลาดเทน้อย ลำน้ำตื้นเขิน และยังมีวัชพืชปกคลุม ทำให้กีดขวางทางน้ำไหล และก่อให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลายาวนาน
            พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า “ลิง” โดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ “ลิง” จะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว และเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม “ลิง” จะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง...เปรียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกัน แล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำแบบ “แก้มลิง” แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
            ภายใต้หลักการดังกล่าวจะต้องเริ่มดำเนินการด้วยการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง จากนั้นพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ “แก้มลิง” เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ให้ระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโลกตามธรรมชาติ แล้วจึงสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” เพื่อให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล จะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง และเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง จึงทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว
            เพื่อสนองแนวพระราชดำริในการแก้ไขวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ควรพิจารณาเลือกลำคลองหนองบึงธรรมชาติ หรือพื้นที่ว่างเปล่านำมาใช้เป็นบ่อพักน้ำ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ “โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา” มีหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นับตั้งแต่จังหวัดสระบุรี, อยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพฯ มาตามคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ เป็นบ่อพักน้ำหรือรับน้ำ ขณะเดียวกัน ก็ควรพิจารณาหาหนองบึงหรือพื้นที่ว่างเปล่าเป็นบ่อพักน้ำเพิ่มเติม โดยใช้คลองธรรมชาติในแนวเหนือ-ใต้ เช่น คลองพระองค์ไชยนุชิต, คลองบางปลา, คลองด่าน, คลองบางปิ้ง, คลองตำหรุ และคลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้าออกจากบ่อพักน้ำ ในส่วนของ “โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา” จะทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง, อยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ไปยังคลองมหาชัย, สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
            และเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้น และทันท่วงทียิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ดำเนินการตามแนวทางของโครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง โดยใช้หลักในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ และปิดกั้นไม่ให้น้ำจากด้านท้ายน้ำไหลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง หลักการนี้ถือเป็นโครงการอเนกประสงค์สำคัญยิ่งในอนาคตด้วย เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ตอนใต้ทางรถไฟสายใต้มาแล้ว ยังจะช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแม่น้ำท่าจีนช่วงฤดูแล้ง โดยสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร, อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ก็ให้ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามคูคลองธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มมิให้ไหลกลับเข้าแม่น้ำลำคลองและพื้นที่การเกษตร รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ด้านเหนือประตูระบายน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆด้วย
            โชคดีเหลือเกินที่พวกเราเกิดมาบนแผ่นดินไทย...แผ่นดินทองที่มีพ่อหลวงผู้ทรงเสียสละ และอุทิศพระองค์อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น