วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เนื้อเพลง ในหลวงของแผ่นดิน


มอง เห็นพระเจ้าอยู่หัว
ท่ามกลางคนมืดมัว เหมือนเห็นแสงทองส่อง
ใจ ตื้นตันเพียงได้มอง
พนมมือทั้งสอง ก้มลงกราบด้วยหัวใจ
มอง พระผู้ทรงเมตตา
เฝ้าดูแลประชา ทั่วอาณาใกล้ไกล
เมื่อยามอ่อนล้า หมดหวังพระองค์อยู่เป็นหลักนำหัวใจ
ยึดเหนี่ยวอยู่ภายในว่าวันพรุ่งนี้ยังมีหวัง
ในหลวงของแผ่นดิน
หล่อรวมให้เม็ดดินทรายกลายเป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่
หยดน้ำ หยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน
ทุกข์ร้อนจะพลันสลายทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน
ในหลวงของแผ่นดิน
ทรงเป็นที่รักและที่พึ่งพิงให้เราแสนนาน
ตั้งแต่เล็ก จนโตจำได้ทุกอย่าง
ใต้ร่มพระบริบาล สุขสราญด้วยความร่มเย็น
ในหลวงของแผ่นดิน
ทรงเป็นที่รักและที่พึ่งพิงให้เราแสนนาน
ตั้งแต่เล็ก จนโตจำได้ทุกอย่าง
ใต้ร่มพระบริบาล สุขสราญด้วยความร่มเย็น
แผ่นดินนี้คือบ้าน คือแดนสวรรค์ แสนสุขใจ
มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม
ในหลวงของแผ่นดิน
หล่อรวมให้เม็ดดินทรายกลายเป็นแผ่นดินที่ยิ่งใหญ่
หยดน้ำ หยาดเหงื่อพระองค์หยดลงที่ไหน
ทุกข์ร้อนจะพลันสลายทุกข์ภัยจะไม่อาจแผ้วพาน
ในหลวงของแผ่นดิน
ทรงเป็นที่รักและที่พึ่งพิงให้เราแสนนาน
ตั้งแต่เล็ก จนโตจำได้ทุกอย่าง
ใต้ร่มพระบริบาล สุขสราญด้วยความร่มเย็น
แผ่นดินนี้คือบ้าน คือแดนสวรรค์ แสนสุขใจ
มีทุกอย่างที่ดีเพราะใคร ฉันจะไม่ลืม

ในหลวงกับสุดยอดแนวพระราชดำริแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม


ในหลวงกับสุดยอดแนวพระราชดำริแก้ไขวิกฤติน้ำท่วม
ตลอดเวลา 60 กว่าปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ทรงขึ้นครองสิริราชสมบัติเมื่อปี 2489 พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงทุ่มเทตรากตรำทำงานหนักเพื่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในยามที่ทรงพระประชวร และประทับรักษาพระองค์อยู่ภายในโรงพยาบาลศิริราช ก็ยังทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้คณะแพทย์, ข้าราชบริพารใกล้ชิด ตลอดจนเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เข้าเฝ้าฯถวายรายงานข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งร้ายแรงที่สุดของเมืองไทยในรอบครึ่งศตวรรษอย่างละเอียดทุกแง่มุม โดยได้พระราชทานคำแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยใหญ่ออกมาต่อเนื่อง ด้วยความห่วงใยพสกนิกรของพระองค์อย่างแท้จริง
            และคงไม่มีใครในแผ่นดินสยามแห่งนี้ ที่จะรู้ซึ้งเข้าใจถึงวิธีการจัดการ “ทรัพยากรน้ำ” อย่างมีประสิทธิภาพ มากเท่ากับในหลวงของเรา โดยแนวพระราชดำริดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรยังภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2495 เป็นต้นมา ทรงพบว่า ราษฎรต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการเกี่ยวกับน้ำ ไม่ว่าจะเป็น น้ำแล้ง, ฝนทิ้งช่วง, ฝนไม่ตกในพื้นที่ที่ต้องการ รวมไปถึงปัญหาน้ำท่วม ทำให้ราษฎรไม่สามารถทำการเพาะปลูก อีกทั้งพืชผลยังเสียหายหนัก และน้ำเน่าเสีย ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำ ด้วยเหตุนี้ จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดการทรัพยากรน้ำด้วยระบบชลประทานขึ้นเป็นครั้งแรก ณ อ่างเก็บน้ำเขาเต่า เมือปี 2506         ผลจากการเสด็จฯลงพื้นที่ศึกษาอย่างจริงจัง ทำให้พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักว่า การขาดแคลนน้ำทำการเกษตร คือปัญหาสำคัญที่สุดของเกษตรกรไทย จึงเน้นการทรงงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำ และบริหารจัดการให้เกิดสมดุลธรรมชาติเป็นหลักตลอดมา โดยการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ ผสมผสานกระบวนการและหลักวิชาการหลากหลายแขนงเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น เทคนิคด้านวิศวกรรมเพื่อสร้างฝาย, เขื่อน, อ่างเก็บน้ำ การวางระบบชลประทานเพื่อจัดหาน้ำและนำน้ำไปใช้ตามพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้งยังต้องอาศัยกระบวนการด้านเคมี, ฟิสิกส์ และอุตุนิยมวิทยา เพื่อทำฝนหลวง การคิดค้นเครื่องกลบำบัดน้ำเสีย เช่น กังหันน้ำชัยพัฒนา ตลอดจนการปลูกป่าด้วยวิธีต่างๆ เพื่อรักษาป่าต้นน้ำและป้องกันน้ำท่วม
            สำหรับวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ของเมืองไทยขณะนี้ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระปริวิตกห่วงใยยิ่ง โดยทรงมีพระวิสัยทัศน์ยาวไกลเกี่ยวกับการ บริหารจัดการน้ำท่วม และได้พระ-ราชทานแนวทางแก้ไขปัญหาไว้อย่างเปี่ยมประสิทธิผล กลายเป็นที่มาของทฤษฎีแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
            “การก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม” ถือเป็นแนวพระราชดำริซึ่งใช้ได้ผลดีมาแต่โบราณ โดยหลักการสำคัญคือ ควรก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนาดที่เหมาะสม ขนานไปตามลำน้ำห่างจากขอบตลิ่งพอสมควร เพื่อป้องกันมิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่างๆด้านใน “การก่อสร้างทางผันน้ำ” เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมท้นให้ออกไป ต้องก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับลำน้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้น้ำไหลไปตามทางผันน้ำที่ขุดขึ้นใหม่ไปลงลำน้ำสายอื่นๆ หรือระบายออกสู่ทะเล สำหรับการบรรเทาความเสียหายจากน้ำท่วมขังสามารถทำได้โดย “การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ”
            เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลักไหลไปตามลำน้ำสะดวกขึ้น โดยดำเนินการได้หลายวิธี อาทิ ขุดลอกลำน้ำตื้นเขินให้น้ำไหลสะดวกขึ้น, ตกแต่งดินตามลาดตลิ่งให้เรียบ มิให้เป็นอุปสรรคต่อทางเดินของน้ำ, กำจัดวัชพืช-ผักตบชวา และรื้อทำลายสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลให้ออกไปจนหมดสิ้น หากลำน้ำคดโค้งมากก็ให้หาแนวทางขุดคลองใหม่เป็นลำน้ำสายตรงให้น้ำไหลสะดวก ขณะเดียวกัน การก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำที่ไหลท่วมล้นในฤดูน้ำหลาก ก็เป็นมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สำคัญเช่นกัน โดยทรงแนะนำว่า ควรเก็บไว้ทางด้านเหนือเขื่อนในลักษณะอ่างเก็บน้ำ ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการตามพระราชดำริมากมายหลายแห่ง เช่น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำป่าสักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และโครงการพัฒนาลุ่มน้ำนครนายกตอนบน จังหวัดนครนายก
            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานแนวทางสำคัญในการแก้ไขเยียวยาวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเร่งด่วน โดยให้ดำเนินการตามแนวทางของ “โครงการพระราชดำริแก้มลิง” เป็นหลัก เพราะสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติดั้งเดิมของกรุงเทพฯที่มีลักษณะลุ่มต่ำ ทำให้การระบายน้ำยามเกิดภาวะน้ำท่วมเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะเดียวกันคูคลองต่างๆก็มีความลาดเทน้อย ลำน้ำตื้นเขิน และยังมีวัชพืชปกคลุม ทำให้กีดขวางทางน้ำไหล และก่อให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลายาวนาน
            พระองค์ท่านได้พระราชทานพระราชอรรถาธิบายว่า “ลิง” โดยทั่วไปถ้าเราส่งกล้วยให้ “ลิง” จะรีบปอกแล้วเอาเข้าปากเคี้ยว และเอาไปเก็บไว้ที่แก้ม “ลิง” จะเอากล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี โดยเอาไปไว้ที่แก้มก่อน แล้วจึงนำมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง...เปรียบได้กับเมื่อเกิดน้ำท่วมก็ขุดคลองต่างๆ เพื่อชักน้ำให้มารวมกัน แล้วนำมาเก็บไว้เป็นบ่อพักน้ำแบบ “แก้มลิง” แล้วจึงระบายน้ำลงทะเลเมื่อปริมาณน้ำทะเลลดลง
            ภายใต้หลักการดังกล่าวจะต้องเริ่มดำเนินการด้วยการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบนให้ไหลไปตามคลองในแนวเหนือ-ใต้ลงคลอง จากนั้นพักน้ำขนาดใหญ่ที่บริเวณชายทะเล เช่น คลองชายทะเลของฝั่งตะวันออก ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ คือ “แก้มลิง” เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำลงกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ให้ระบายน้ำจากคลองดังกล่าวออกทางประตูระบายน้ำ โดยใช้หลักทฤษฎีแรงโน้มถ่วงโลกตามธรรมชาติ แล้วจึงสูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ “แก้มลิง” เพื่อให้ระบายออกในระดับต่ำที่สุดออกสู่ทะเล จะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง และเมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลอง จึงทำการปิดประตูระบายน้ำ เพื่อป้องกันมิให้น้ำย้อนกลับ โดยยึดหลักน้ำไหลทางเดียว
            เพื่อสนองแนวพระราชดำริในการแก้ไขวิกฤติน้ำท่วมครั้งใหญ่ ควรพิจารณาเลือกลำคลองหนองบึงธรรมชาติ หรือพื้นที่ว่างเปล่านำมาใช้เป็นบ่อพักน้ำ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ “โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา” มีหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา นับตั้งแต่จังหวัดสระบุรี, อยุธยา, ปทุมธานี, นนทบุรี และกรุงเทพฯ มาตามคลองสายต่างๆ โดยใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้านจังหวัดสมุทรปราการ เป็นบ่อพักน้ำหรือรับน้ำ ขณะเดียวกัน ก็ควรพิจารณาหาหนองบึงหรือพื้นที่ว่างเปล่าเป็นบ่อพักน้ำเพิ่มเติม โดยใช้คลองธรรมชาติในแนวเหนือ-ใต้ เช่น คลองพระองค์ไชยนุชิต, คลองบางปลา, คลองด่าน, คลองบางปิ้ง, คลองตำหรุ และคลองชายทะเล เป็นแหล่งระบายน้ำเข้าออกจากบ่อพักน้ำ ในส่วนของ “โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา” จะทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดอ่างทอง, อยุธยา, ปทุมธานี, นครปฐม, กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร ไปยังคลองมหาชัย, สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร
            และเพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้น และทันท่วงทียิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานคำแนะนำเพิ่มเติมว่า ให้ดำเนินการตามแนวทางของโครงการแก้มลิง แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง โดยใช้หลักในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ และปิดกั้นไม่ให้น้ำจากด้านท้ายน้ำไหลรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำเมื่อน้ำทะเลมีระดับสูง หลักการนี้ถือเป็นโครงการอเนกประสงค์สำคัญยิ่งในอนาคตด้วย เพราะนอกจากจะช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่บางส่วนทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ตอนใต้ทางรถไฟสายใต้มาแล้ว ยังจะช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มเข้าไปในแม่น้ำท่าจีนช่วงฤดูแล้ง โดยสามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตร, อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคได้อีกด้วย พร้อมกันนี้ก็ให้ระบายน้ำลงสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้นลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกและการสูบน้ำที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามคูคลองธรรมชาติในช่วงฤดูฝน ช่วยป้องกันการรุกล้ำของน้ำเค็มมิให้ไหลกลับเข้าแม่น้ำลำคลองและพื้นที่การเกษตร รวมทั้งสามารถเก็บกักน้ำจืดไว้ด้านเหนือประตูระบายน้ำ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆด้วย
            โชคดีเหลือเกินที่พวกเราเกิดมาบนแผ่นดินไทย...แผ่นดินทองที่มีพ่อหลวงผู้ทรงเสียสละ และอุทิศพระองค์อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน.

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

HS1A ในหลวงกับวิทยุสื่อสาร


        "พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี"
๑. พระราชกรณียกิจด้านสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์
              พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ "...ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ 'Centrum' จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย..." (สุชาติ เผือกสกนธ์, วันสื่อสารแห่งชาติ : ๒๕๓๐)
               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับตรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเหลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
              ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
               นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ
ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะในการพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ
                นอกเหนือจากวิทยุสื่อสารแล้ว ในเรื่องของเทเล็กซ์พระองค์ทรงสนพระทัยอยู่ไม่น้อย และสิ่งหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่เคยทรงขาดคือ การพระราชทานพรปีใหม่ นอกจากจะทรงมีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานพรปีใหม่แก่พสกนิกรไทยทางวิทยุและโทรทัศน์ทุกแห่งแล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานพรทางเทเล็กซ์สม่ำเสมอทุกปี แต่ในปัจจุบันท่านทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการประดิษฐ์บัตรอวยพรปีใหม่แทน
                นอกจากนี้พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจของความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

๒. พระราชกรณียกิจด้านวิทยุกระจายเสียง
               พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในเรื่องวิทยุเป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเยาว์ ซึ่งพระองค์ประทับอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์ได้ทรงซื้ออุปกรณ์เครื่องรับวิทยุ ซึ่งมีวางขายเลหลังราคาถูกทรงประกอบเป็นเครื่องรับวิทยุชนิดแร่ สามารถรับฟังวิทยุกระจายเสียงในยุโรปได้หลายแห่ง ต่อมาเมื่อกิจการวิทยุเจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้นำหลอดวิทยุมาใช้ในเครื่องรับ-ส่งวิทยุ และเครื่องขยายเสียง และพระองค์ท่านก็ได้ทรงทดลองอุปกรณ์แบบใหม่นี้ด้วยเช่นกัน
             เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินกลับมา ประทับอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวร ในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ พระองค์ได้ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้นที่พระราชวังสวนดุสิต และชื่อสถานีวิทยุดังกล่าวได้ทรงนำมาจากอักษรย่อของพระที่นั่งอัมพรสถาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่ใช้ออกอากาศครั้งแรก ต่อมาจึงย้ายสถานีวิทยุ อ.ส. เข้าไปตั้งในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
    สถานีวิทยุ อ.ส. เมื่อแรกตั้งเป็นสถานีเล็กๆ มีเครื่องส่ง ๒ เครื่อง ขนาดที่มีกำลังส่ง ๑๐๐ วัตต์ ออกอากาศด้วยคลื่นสั้นและคลื่นยาวในระบบ AM พร้อมๆ กัน เครื่องส่งรุ่นแรกนี้เป็นเครื่องที่ กรมประชาสัมพันธ์ทูลเกล้าฯ ถวายและติดตั้งให้ด้วยเมื่อออกอากาศไปได้ระยะหนึ่ง และในระบบคลื่นสั้นก็มีจดหมายรายงานผลการรับฟัง เข้ามาจากหลายประเทศ เช่น นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมันฯ เป็นต้น ดังนั้นจึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขยายกำลังส่ง โดยมีชื่อรหัสสถานีว่า HS 1 AS ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ สถานีวิทยุ อ.ส. ได้เพิ่มการส่งกระจายเสียงในระบบ FM ขึ้นอีกระบบหนึ่ง ในการขยายด้านกำลังส่งนั้นอุปกรณ์ต่างๆ ล้วนแต่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เพื่อให้สถานีวิทยุ อ.ส. สามารถบริการประชาชนได้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น อาจถือได้ว่าเป็นสถานีวิทยุเอกชนเพียงแห่งเดียวที่สามารถกระจายเสียงคลื่นสั้นได้ ทั้งนี้เพราะถือว่าเป็นเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์
              พระองค์ทรงมีวัตถุประสงค์ที่ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อเปิดโอกาสให้พสกนิกรมีช่องทางในการติดต่อกับพระองค์ได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนตามพิธีการเหมือนในสมัยก่อน ทรงใช้สถานีวิทยุเพื่อเป็นสื่อในการประชาสัมพันธ์ติดต่อข่าวสารกับประชาชน และเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างพระองค์และประชาราษฎร์ ที่ทรงแสดงให้ทราบถึงใจรักที่พระองค์ท่านพระราชทานให้กับประชาชนทั่วทุกคน
          นอกเหนือจากเป็นสถานีวิทยุของสื่อมวลชนเพื่อการบันเทิง และเผยแพร่ความรู้กับประชาชนแล้ว ยังได้ทำหน้าที่แจ้งข่าวสารแก่ประชาชนในโอกาสสำคัญ หรือเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญต่างๆ ขึ้น เช่น การเกิดโรคโปลีโอระบาดในปี พ.ศ. ๒๔๙๕ อหิวาตกโรคในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ และเมื่อเกิดวาตภัยที่แหลมตะลุมพุกในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ โดยมีพระราชดำริให้ใช้สถานีวิทยุ อ.ส. เพื่อทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการช่วยเหลือผู้ประสบเคราะห์กรรม จนเป็นบ่อเกิดของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งปัจจุบันมีคุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ทำหน้าที่นายสถานี เล่าให้ฟังว่า นโยบายหลักเกี่ยวกับการบริหารงานของสถานี ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานไว้ก็คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือเอกชน ได้เข้ามาสนองพระมหากรุณาธิคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่ของสถานีจึงเป็นอาสาสมัครทั้งสิ้น และทรงรับภาระต่างๆ ด้านสถานีด้วยทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ พระองค์ทรงใช้นโยบายประหยัดและใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด และในปัจจุบันนี้สถานีวิทยุ อ.ส. ยังคงกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันเว้นวันจันทร์ โดยออกอากาศทั้งคลื่นสั้นและคลื่นยาว ในระบบ AM 1332 KHzและ FM 104 MHz ควบคู่กันไปด้วยกำลังส่ง ๑๐ กิโลวัตต์ โดยออกอากาศวันอังคารถึงวันเสาร์ เวลา ๑๐.๓๐-๑๒.๐๐ และ ๑๖.๐๐-๑๙.๐๐ วันอาทิตย์ เวลา ๙.๐๐-๑๒.๐๐ หยุดทุกวันจันทร์
๓. พระราชกรณียกิจด้านดาวเทียม
               ดาวเทียมไทยคมนับว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การสื่อสารโทรคมนาคมของไทยก้าวสู่ยุคแห่งความล้ำหน้า และได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในเรื่องของการศึกษา คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย เป็นผู้สนองพระราชภารกิจที่โรงเรียนไกลกังวล หัวหิน ซึ่งขณะนี้ได้พยายามที่จะนำเอาดาวเทียมไทยคมเข้าไปใช้ในกิจการด้านการเรียนการสอน เจตนารมณ์ดังกล่าวเป็นการสนองตอบความต้องการของประชาชน และเป็นการปรับปรุงในเรื่องของการศึกษาให้สอดคล้องกับยุคสมัยอีกด้วย อีกทั้งยังเป็นการจัดการศึกษาใต้ร่มพระบารมีอย่างแท้จริง และที่สำคัญเพื่อเป็นการสนองพระบรมราโชบายทางการศึกษา ในอันที่จะทำให้โรงเรียนไกลกังวลเป็นเครือข่ายและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาไทยคมอย่างแท้จริง
             กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกอนันต์ต่อประเทศชาติ ที่ได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนางานทางระบบวิทยุสื่อสารขึ้นในประเทศอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพราะสังคมปัจจุบันนั้น การสื่อสารก็เปรียบเสมือนกับระบบประสาทของร่างกายมนุษย์ ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระองค์ท่านนั้นมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทรงเห็นบทบาทที่สำคัญยิ่งต่อการสื่อสาร
* รวบรวมและเรียบเรียงจากบทความในหนังสือ
การสื่อสารแห่งประเทศไทย.พระราชอัจฉริยภาพของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการสื่อสาร (เนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ ๔ สิงหาคม ๒๕๓๐).กรุงเทพฯ : วิสคอมเซ็นเตอร์.๒๕๓๐.
หนังสือพิมพ์เดลินิวส์.ไทยคมกับการศึกษาใต้ร่มพระบารมี.๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๗.